มี.ค. 19

ผลสรุปกิจกรรมโพลเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแส ‘โพล’ ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้เป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนจะมีการสมัครผู้ว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งข้อสังเกตว่าการทำโพลเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกคนใดคนหนึ่งได้ ซึ่งนำไปถึงการร้องเรียนในหลายกรณีตามที่เป็นข่าว

จากผลการลงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน คิดเป็น 47.75% ในขณะที่ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้รับคะแนนเสียง 1,077,899 คะแนน คิดเป็น 40.97% ซึ่งผลโพลที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งผลจาก Exit Poll ก็ตามมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง กับผลการเลือกตั้งจริง รวมถึงการทำโพลของ SurveyCan ด้วยที่ไม่อาจสะท้อนคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งได้อย่างสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งจริงได้

SurveyCan ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงไม่เปิดเผยผลโพลว่าใครเป็นผู้นำผู้ตามด้วยคะแนนเท่าใด ในการรายงานผลในช่วงที่ผ่านมา การจัดทำโพลเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ของ SurveyCan มีวัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกันคือ

1. เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้มามีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดในผลโพล (จากที่เคยถามว่า ‘ทำไมไม่เคยมีใครมาสำรวจเลย’)
2. เพื่อพิสูจน์ว่าการทำโพลออนไลน์นั้นน่าเชื่อถือได้ไม่น้อยกว่าการทำโพลแบบออกสำรวจได้หรือไม่ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่ประหยัดกว่าได้

ในช่วงของการทำโพลระหว่างวันที่ 6 ก.พ. – 1 มี.ค. 2556 มีผู้เข้ามาตอบโพลจำนวนทั้งสิ้น 4,111 ราย และเป็นกลุ่มเป้าหมาย (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) จำนวนทั้งสิ้น 3,555 ราย ใช้วิธีการสำรวจแบบ Voluntary Response Sample แบบการใช้การเผยแพร่โพลออนไลน์ SurveyCan

จากการใช้การทำโพลในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2556 เป็นกรณีศึกษาพบว่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นมาจาก ปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่เข้ามาตอบแบบสำรวจออนไลน์นั้นจะเป็นผู้ที่อาสา หรือเป็นแบบ Self-Select เข้ามาตอบ ทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวอยู่มากกว่ากลุ่มประชากรทั้งหมด
2. กลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงการสำรวจออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม รับจ้าง/ใช้แรงงานทั่วไป แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และกลุ่มว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ โดยจากผลสำรวจของ SurveyCan กลุ่มอาชีพดังกล่าวรวมแล้วคิดเป็นเพียง 9.17%
3. ถึงแม้ว่าการออกแบบคำถามนั้น ได้ใช้ข้อมูลการเทียบเคียงการกระจายตัวของกลุ่มประชากรได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนนี้ SurveyCan ใช้การตั้งคำถามของการเลือกผู้สมัครเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มาวัดการกระจายตัวของกลุ่มประชากรเทียบกับผลการเลือกตั้งจริง ซึ่งถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากว่ากลุ่มประชากรในส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นมีผู้สิทธิเลือกตั้งใหม่ครั้งแรก การย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น ทำให้ เมื่อใช้การกระจายตัวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาจไม่สามารถสะท้อนถึงกลุ่มในครั้งนี้ ได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ดี จากการทำกิจกรรมโพลเลือกตั้งผุ้ว่าในครั้งนี้ ทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าการสำรวจออนไลน์นั้น สามารถลดต้นทุนในการออกสำรวจได้อย่างมากถึง 76.66% เช่นจากเดิมต้องใช้เงินประมาณ 30 บาทต่อหนึ่งรายการตอบกลับ จะลดเหลือเพียง 7 บาทเท่านั้น

การสำรวจออนไลน์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริการเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอย่างแพร่หลายและได้ผลเป็นอย่างมาก นั่นก็คงเป็นเพราะการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของประชากรนั้นสูงมาก ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  การเข้าถึงเครือข่ายและระบบสารสนเทศจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่ทำงานในเมือง SurveyCan มีความเชื่อมั่นว่าการได้มาซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจใด ๆ ก็ตาม จะได้ผลหากคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกแบบแบบสำรวจและการใช้เทคนิคในการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม โดยเราสามารถลดต้นทุนการสำรวจได้อย่างมาก