ต.ค. 25

ผลสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

จากผลสำรวจประชากรในโลกออนไลน์ต่อความคิดเห็นต่อนโยบายก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในครั้งนี้ ด้วยเครื่องมือ SurveyCan – ระบบบริหารจัดการแบบสอบถามและแบบฟอร์มออนไลน์ (http://www.surveycan.com) นั้น ปรากฎผลดังต่อไปนี้

ข้อมูลการสำรวจระหว่างวันที่ 4 ต.ค. – 25 ต.ค. 2556

กลุ่มตัวอย่าง : 780 ราย จากทั่วประเทศ

วิธีการสำรวจ: แบบ Voluntary Response Sample แบบการใช้การเผยแพร่โพลออนไลน์ SurveyCan

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญ

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบข่าวนโยบายการสร้างเขื่อนแม่วงก์และมีความกังวลต่อการก่อสร้าง

จากคำถามที่ว่า คุณทราบข่าวนโยบายการสร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ผลสำรวจ ผลปรากฎว่าร้อยละ 88.1 ตอบว่าทราบ ร้อยละ 8.2 ตอบว่า ไม่ทราบ และ ร้อยละ 3.7 ตอบว่า ไม่แน่ใจ

ส่วนคำถามว่า คุณมีความกังวลต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือไม่ ผลปรากฏว่าร้อยละ 71.4 ตอบว่า กังวล ร้อยละ 21.7 ตอบว่า ไม่กังวล และร้อยละ 6.9 ตอบว่า ไม่แน่ใจ

ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลมากที่สุด

เมื่อถามว่าคุณมีความกังวลต่อประเด็นต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด ต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จากผลสำรวจพบว่าประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นโครงการ – ร้อยละ 83.99

ปัญหาต่อระบบนิเวศป่าแม่วงก์ที่อาจถูกทำลายหรือคุกคาม – ร้อยละ 82.98

ไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมการลักลอบตัดไม้และการล่าสัตว์ป่าได้ – ร้อยละ 77.78

ผลกระทบในทางลบ และทางบวก

เมื่อถามว่า คุณคิดว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีผลกระทบ (ในทางลบ) ต่อประเด็นต่อไปนี้ในระดับใด จากผลสำรวจพบว่าผลกระทบทางลบที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีผลกระทบในทางลบมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่

 การสูญเสียพื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศป่าแม่วงก์ – ร้อยละ 69.74

ผืนป่าตะวันตกอาจถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น  – ร้อยละ 62.05

การสูญเสียเป็นป่ามรดกโลก – ร้อยละ 60.90

 

 ส่วนเมื่อถามว่า คุณคิดว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มีผลกระทบ (ในทางบวก) หรือประโยชน์ ต่อประเด็นต่อไปนี้ในระดับใด จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่า สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งให้กับบริเวณพื้นที่โดยรอบ จะมีผลที่น้อย และน้อยที่สุด รวมเป็นร้อยละ 50.83 และคิดว่าสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำแม่วงก์ จะมีผลน้อยและน้อยที่สุด รวมเป็นร้อยละ 55.60 ส่วนการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ทุกฤดู และผลผลิตจากการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 26.90 คิดว่าจะสามารถมีผลกระทบในทางบวกได้ในระดับปานกลาง

 

 หมายเหตุ: กลุ่มตัวอย่างที่ได้ผ่านการตอบโพลออนไลน์นั้น อาจมีความสนใจในเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องอาสาเข้ามาตอบโพลเอง  ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างที่ได้จะขาดความเป็นตัวแทนของผู้ไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว

ติดตามกิจกรรมผลสำรวจรวจของ SurveyCan ได้ที่ http://www.facebook.com/surveycan

 

 

 


ต.ค. 04

SurveyCan เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

SurveyCan เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

จากกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ บริษัท ลิทเทิล บิ๊ก ลิงค์ส จำกัด ผู้ให้บริการ SurveyCan เครื่องมือการสร้างแบบสอบถามและแบบฟอร์มออนไลน์สำหรับคนไทย จึงได้จัดโครงการการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของประชาชนขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นของตน เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในกระบอกเสียง ให้ความเห็นของท่านสะท้อนสู่สื่อประชาสัมพันธ์ สื่อสังคมออนไลน์และภาครัฐต่อไป

จึงขอความร่วมมือจากท่านกรุณาช่วยตอบแบบสำรวจของเรา โดยทางทีมงานจะนำเสนอผลสำรวจตามหลักวิชาการต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูง
 

 คลิ๊กที่รูปเพื่อแสดงความคิดเห็นของท่าน 

Ad900x900

 


มี.ค. 19

ผลสรุปกิจกรรมโพลเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแส ‘โพล’ ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้เป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนจะมีการสมัครผู้ว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งข้อสังเกตว่าการทำโพลเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกคนใดคนหนึ่งได้ ซึ่งนำไปถึงการร้องเรียนในหลายกรณีตามที่เป็นข่าว

จากผลการลงคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน คิดเป็น 47.75% ในขณะที่ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้รับคะแนนเสียง 1,077,899 คะแนน คิดเป็น 40.97% ซึ่งผลโพลที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งผลจาก Exit Poll ก็ตามมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง กับผลการเลือกตั้งจริง รวมถึงการทำโพลของ SurveyCan ด้วยที่ไม่อาจสะท้อนคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งได้อย่างสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งจริงได้

SurveyCan ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงไม่เปิดเผยผลโพลว่าใครเป็นผู้นำผู้ตามด้วยคะแนนเท่าใด ในการรายงานผลในช่วงที่ผ่านมา การจัดทำโพลเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ของ SurveyCan มีวัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกันคือ

1. เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้มามีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดในผลโพล (จากที่เคยถามว่า ‘ทำไมไม่เคยมีใครมาสำรวจเลย’)
2. เพื่อพิสูจน์ว่าการทำโพลออนไลน์นั้นน่าเชื่อถือได้ไม่น้อยกว่าการทำโพลแบบออกสำรวจได้หรือไม่ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่ประหยัดกว่าได้

ในช่วงของการทำโพลระหว่างวันที่ 6 ก.พ. – 1 มี.ค. 2556 มีผู้เข้ามาตอบโพลจำนวนทั้งสิ้น 4,111 ราย และเป็นกลุ่มเป้าหมาย (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) จำนวนทั้งสิ้น 3,555 ราย ใช้วิธีการสำรวจแบบ Voluntary Response Sample แบบการใช้การเผยแพร่โพลออนไลน์ SurveyCan

จากการใช้การทำโพลในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2556 เป็นกรณีศึกษาพบว่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นมาจาก ปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่เข้ามาตอบแบบสำรวจออนไลน์นั้นจะเป็นผู้ที่อาสา หรือเป็นแบบ Self-Select เข้ามาตอบ ทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวอยู่มากกว่ากลุ่มประชากรทั้งหมด
2. กลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงการสำรวจออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม รับจ้าง/ใช้แรงงานทั่วไป แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และกลุ่มว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ โดยจากผลสำรวจของ SurveyCan กลุ่มอาชีพดังกล่าวรวมแล้วคิดเป็นเพียง 9.17%
3. ถึงแม้ว่าการออกแบบคำถามนั้น ได้ใช้ข้อมูลการเทียบเคียงการกระจายตัวของกลุ่มประชากรได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนนี้ SurveyCan ใช้การตั้งคำถามของการเลือกผู้สมัครเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มาวัดการกระจายตัวของกลุ่มประชากรเทียบกับผลการเลือกตั้งจริง ซึ่งถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากว่ากลุ่มประชากรในส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นมีผู้สิทธิเลือกตั้งใหม่ครั้งแรก การย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น ทำให้ เมื่อใช้การกระจายตัวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อาจไม่สามารถสะท้อนถึงกลุ่มในครั้งนี้ ได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ดี จากการทำกิจกรรมโพลเลือกตั้งผุ้ว่าในครั้งนี้ ทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าการสำรวจออนไลน์นั้น สามารถลดต้นทุนในการออกสำรวจได้อย่างมากถึง 76.66% เช่นจากเดิมต้องใช้เงินประมาณ 30 บาทต่อหนึ่งรายการตอบกลับ จะลดเหลือเพียง 7 บาทเท่านั้น

การสำรวจออนไลน์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริการเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอย่างแพร่หลายและได้ผลเป็นอย่างมาก นั่นก็คงเป็นเพราะการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของประชากรนั้นสูงมาก ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  การเข้าถึงเครือข่ายและระบบสารสนเทศจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่ทำงานในเมือง SurveyCan มีความเชื่อมั่นว่าการได้มาซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจใด ๆ ก็ตาม จะได้ผลหากคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกแบบแบบสำรวจและการใช้เทคนิคในการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม โดยเราสามารถลดต้นทุนการสำรวจได้อย่างมาก


ก.พ. 20

รายงานสรุปผลสำรวจครั้งที่ 2 กิจกรรมโพลผู้ว่า กทม. กับ SurveyCan

จากผลสำรวจประชากรในโลกออนไลน์ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ ด้วยเครื่องมือ SurveyCan – ระบบบริหารจัดการแบบสอบถามและแบบฟอร์มออนไลน์ (http://www.surveycan.com) นั้น ปรากฎผลในช่วงสัปดาห์ก่อนโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

ข้อมูลการสำรวจระหว่างวันที่ 6 ก.พ. – 19 ก.พ. 2556
กลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Sample) : 2,129 ราย
วิธีการสำรวจ: แบบ Voluntary Response Sample แบบการใช้การเผยแพร่โพลออนไลน์ SurveyCan

จากที่ทางทีมที่ปรึกษา SurveyCan ได้จัดทำสรุปผลในครั้งที่ 1 ไปเมื่อช่วงวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาแล้วนั้น ทางเราขอนำเสนอมุมมองของผลโพลที่ต่างจากโพลอื่น ๆ ดังนี้

เมื่อพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์ของการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมของผู้สมัครจากสองพรรคการเมืองใหญ่นับจากการผลสำรวจในช่วงสัปดาห์แรก (6-12 ก.พ.) ผลปรากฎว่า

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น จนถึง ณ วันที่ 19 ก.พ. นับจากการผลสำรวจในช่วงวันที่ 6-12 ก.พ. จำนวน 2.78 จุด เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 0.40%

ส่วนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนนิยมที่ค่อนข้างคงที่นับจากการผลสำรวจในช่วงแรก ดังแสดงในกราฟเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยม

เมื่อพิจารณาดูในเรื่องของฐานคะแนนเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลปรากฎว่า

ร้อยละ 66.67 ของคนที่เคยเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จะยังคงเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ในขณะที่ ร้อยละ 95.87 ของคนที่เคยเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (นายยุรนันท์ ภมรมนตรี) จะยังคงเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ) อีกครั้งในครั้งนี้ และเป็นที่น่าสนใจว่าฐานคะแนนของ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครเลือกตั้งในคราวที่แล้วนั้นตกไปอยู่ที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อยู่ถึงร้อยละ 83.74

ส่วนฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์เดิม คิดเป็นร้อยละ 15.38 เปลี่ยนมาเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

เมื่อพิจารณาดูว่าคะแนนนิยมในผลโพลครั้งนี้ของผู้สมัครสองพรรคใหญ่ มาจากฐานคะแนนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ผลปรากฎว่า

สำหรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คะแนนนิยมที่ได้ในครั้งนี้หากคิดเป็นร้อยละ จะประกอบด้วยคะแนนนิยมที่มาจากผู้ที่เคยเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อยู่ ร้อยละ 81.83 อีก ร้อยละ 14.16 มาจากผู้ที่ไม่เคยหรือไม่ได้ไปใช้สิทธิในคราวที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือจะกระจายมาจากผู้ที่เคยเลือกผู้สมัครรายอื่นและจากการเลือกช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผลสำรวจในครั้งนี้ คะแนนนิยมที่ได้จะประกอบด้วยคะแนนนิยมที่มาจากผู้ที่เคยเลือก นายยุรนันท์ ภมรมนตรี คิดเป็นร้อยละ 51.49 มาจากผู้ที่ไม่เคยหรือไม่ได้ไปใช้สิทธิในคราวที่แล้ว ร้อยละ 15.62 มาจากผู้ที่เคยเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 12.73 และมาจากผู้ที่เคยเลือก หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ร้อยละ 9.93

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง:

อายุ

น้อยกว่า  20 ปี 4.60%
20–29 ปี 20.81%
30–39 ปี 21.89%
40–49 ปี 27.05%
50 ปี ขึ้นไป 25.65%

อาชีพ

ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 21.65%
ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว 28.42%
นักเรียนนักศึกษา 11.37%
พนักงานเอกชน 28.18%
แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ 4.37%
รับจ้าง/ใช้แรงงานทั่วไป 3.71%
ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ 2.30%

 หมายเหตุ: กลุ่มตัวอย่างที่ได้ผ่านการตอบโพลออนไลน์นั้น อาจมีความสนใจในเรื่องของการเมืองเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องอาสาเข้ามาตอบโพลเอง  ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างที่ได้จะขาดความเป็นตัวแทนของผู้ไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวมากนักแต่ก็อาจจะไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้อยู่จำนวนหนึ่ง

สามารถติดตามผลโพลในส่วนที่เหลือได้ที่ http://www.facebook.com/surveycan

 


ก.พ. 15

รายงานสรุปผลสำรวจครั้งที่ 1 กิจกรรมโพลผู้ว่า กทม. กับ SurveyCan

คนในโลกออนไลน์สะท้อนความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อย่างไร

ข้อมูลการสำรวจระหว่างวันที่ 6 ก.พ. – 13 ก.พ. 2556
จำนวนผู้ตอบโพล : 1,573 ราย
กลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Sample) : 1,356 ราย
วิธีการสำรวจ: แบบ Voluntary Response Sample แบบการใช้การเผยแพร่โพลออนไลน์ SurveyCan
อัตราการตอบกลับ: 30%

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญ

จากการพิจารณาจากผู้ที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2552) ว่าหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งคุณจะเลือกใครนั้น ผลปรากฎว่า

กลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังคงเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 65.88 ในขณะที่ร้อยละ 15.43 ได้ระบุว่าจะหันมาเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 10.53 ได้ระบุว่าจะเลือกนายสุหฤท สยามวาลา และ ร้อยละ 4.54 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.56 จากกลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือก นายยุรนันท์ ภมรมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2552  และร้อยละ  82.14 จากกลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือก หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือกผู้สมัครคนอื่น ๆ ในครั้งก่อน นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ร้อยละ 35 ระบุว่าจะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 33 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และร้อยละ 14 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส่วนที่เหลือจะกระจายให้กับผู้สมัครรายอื่น ๆ

กลุ่มตัวอย่างที่ในการเลือกตั้งคราวที่แล้วได้เลือกช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.09 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และร้อยละ 13.64 จะเปลี่ยนมาเลือก นายสุหฤท สยามวาลา โดยร้อยละ 11.36% จะยังคงเลือก เลือกช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ที่เหลือจะกระจายตัวไปให้ผู้สมัครรายอื่น ๆ

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยหรือไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ คิดเป็นร้อยละ 44.34 ระบุว่าจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คิดเป็นร้อยละ 29.86 และระบุว่าจะเลือกนายสุหฤท สยามวาลา  คิดเป็นร้อยละ 13.57

คำถาม: คุณคิดว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 3 มีนาคม นี้หรือไม่?

ไป 98.08%
ไม่ไป 0.59%
ไม่ทราบ 1.33%

คำถาม: คุณได้ตัดสินใจแล้วหรือไม่ ว่าในวันที่ 3 มีนาคม 2556 คุณจะไปเลือกใคร

ตัดสินใจแล้ว 94.76%
ไม่ทราบ 0.44%
ยังไม่ตัดสินใจ 4.79%

เป็นที่น่าสนใจว่าการทำโพลแบบ Self-Select คือให้คนมาตอบโพลอาสาเข้ามาตอบโพลได้เองนั้น จะได้กลุ่มผู้ที่มาตอบที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เช่นมากกว่า 90% ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร และมีความแน่ใจว่าจะไปเลือกตั้ง ซึ่งผลที่ได้ตรงนี้จะมีความแตกต่างจากโพลที่ทำแบบ Probability Sampling อยู่มาก ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างที่ได้จะขาดความเป็นตัวแทนของผู้ไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวแต่ก็อาจจะไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้อยู่จำนวนหนึ่ง

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง:

อายุ

อายุน้อยกว่า 20 ปี: 5.09%
20–29 ปี: 21.39%
30–39 ปี: 22.42%
40-49 ปี: 25.74%
50 ปีขึ้นไป: 25.37%

อาชีพ

ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 19.54%
ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว 29.42%
นักเรียนนักศึกษา 12.09%
พนักงานเอกชน 28.76%
แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ 4.42%
รับจ้าง/ใช้แรงงานทั่วไป 3.24%
ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ 2.51%

ข้อมูลประกอบในการพิจารณากลุ่มตัวอย่าง:

คำถาม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คุณได้ลงคะแนนให้กับใคร?

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร 48.55%
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี 29.78%
หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล 7.40%
นายแก้วสรร อติโพธิ 1.67%
ไม่ทราบ 2.20%
เลือกช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน 3.88%
อื่น ๆ 6.52%

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งจริงในปี 2552

จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้มีความสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งปี 2552

แหล่งที่มาของการเข้ามาตอบโพล

Google (จากการค้นหาด้วยคำค้น) 44%
Facebook (โฆษณาแบบสุ่ม/การแบ่งปัน) 38%
Others(อีเมล/Blog/เข้าจากลิงค์โดยตรง) 18%

ถามว่าแล้วใครจะชนะการเลือกตั้ง? ทางทีมงาน SurveyCan ขอจัดทำสรุปให้ทราบในโอกาสต่อไป เนื่องจาก ณ ปัจจุบันการทำโพลได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าจะเป็นการชี้นำหรือไม่ ทางเราจึงขอสรุปในแง่มุมที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเป็นข้อมูลประกอบสำหรับสาธารณชนได้พิจารณาโดยขอหลีกเลี่ยงที่จะแสดงเพียงตัวเลขว่าผู้ใดเป็นผู้นำ ผู้ตาม ร้อยละเท่าไหร่ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

หากมีข้อสงสัยประการใดกับผลสรุปโพล สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ support@surveycan.com