ก.พ. 12

ไขข้อสงสัยกับกิจกรรมออนไลน์โพลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

กิจกรรมของ SurveyCan กับโพลผู้ว่า กทม. ทำให้เปิดโอกาสให้กับหลายคนที่เคยมีคำถามว่า ‘ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้มีส่วนร่วมกับโพลที่สำคัญ ๆ เลย’ สามารถเข้ามาร่วมสะท้อนเสียงได้บ้างแล้ว

แต่แน่นอนว่าการสำรวจแบบออนไลน์ นั้นต่างจากการสำรวจที่ออกไปนอกสถานที่คอยสัมภาษณ์ผู้คนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการออกแบบโพลและการวิเคราะห์ผลจะต้องมีขั้นตอนที่ต่างออกไปบ้างพอสมควร

‘เมื่อให้การตอบขึ้นอยู่กับตัวผู้ตอบเอง จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำตอบที่ได้รับมาน่าเชื่อถือได้?’ 

ข้อดีอย่างหนึ่งของการตอบด้วยตนเองแบบออนไลน์คือ ผู้ตอบมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากกว่า หากเป็นคำถามที่ไม่อยากเปิดเผย ผู้ตอบอาจจะไม่บอกความจริงกับผู้ที่มาสัมภาษณ์ก็เป็นได้ แต่ก็อาจมีกรณีที่ผู้ที่มาตอบไม่ตั้งใจเข้ามาตอบตามความเป็นจริงได้เช่นกัน   การออกแบบสอบถามสำหรับกรณีนี้ เพื่อให้สามารถคัดกรองคำตอบที่ไม่ Valid มากที่สุดออกไปจากการวิเคราะห์ได้ ก็คือการตั้งคำถามที่ถามเพื่อให้สามารถเช็คคำตอบที่ไม่สอดคล้องได้ เช่นถามคำถามที่เกี่ยวเนื่องกัน 2 ครั้งเป็นต้น หากคำตอบจากคำถามดังกล่าวไม่สอดคล้องกันอาจจะแสดงได้ว่าผู้ตอบไม่ตอบตามความเป็นจริงได้ หรือตอบ ‘มั่วๆ’ ได้ และสามารถคัดกรองออกจากการวิเคราะห์ผลได้ เพื่อให้ได้ความคลาดเคลื่อนที่ลดลง

‘แล้วในกรณีที่ผู้ตอบ ‘โกง’ โดยการกรอกซ้ำๆ กันหลายครั้ง จะเกิดขึ้นได้หรือไม่?’

แน่นอนว่าโพลการเลือกตั้งต่าง ๆ หากไม่สามารถคุมจำนวนครั้งการตอบกลับต่อคนได้ ก็จะมีการสร้างผลโพลขึ้นมาเองได้ โดยการกรอกซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง การทำแบบออนไลน์นั้นจะไม่สามารถคุมด้วยคนหรือการเลือกกลุ่มได้เอง แต่ก็สามารถคุมได้ด้วยระบบ ตัวอย่างในกรณีโพลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ SurveyCan ได้กำหนดให้ผู้ตอบสามารถตอบได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 1 เครื่องเท่านั้น และยังสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้จาก IP อีกทั้งสามารถใช้พฤติกรรมในการตอบมาช่วยวิเคราะห์ว่าเป็นการกรอกครั้งแรก (มีการอ่านด้วย) หรือเป็นการกรอกครั้งถัด ๆ ไป หรือเป็นการกรอกด้วยซอฟต์แวร์หรือไม่ เช่นดูจากระยะเวลาที่ใช้ในการตอบแต่ละครั้ง เป็นต้น

‘แล้วจะได้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร หากมีแต่ผู้ตอบที่มีแต่สิทธิเข้าถึง Internet เข้ามาตอบได้เท่านั้น’

จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนกรุงเทพในทุกกลุ่มอายุนั้นใช้อินเตอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 44.4 (และแน่นอนว่าจะลดหลั่นตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น)  ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อกำจัดในการสำรวจแบบออนไลน์ ที่ไม่สามารถใช้การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น หรือ  Probability Sampling ได้ ซึ่งก็เหมือนในกรณีของการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญหรือตามความสะดวก (Convenience Sampling) ซึ่งบางโพลใช้วิธีนี้อยู่ เช่นการสัมภาษณ์ ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ขาดความเป็นตัวแทนของกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งก็คล้ายคลึงกับกรณีการสำรวจออนไลน์คือผลสำรวจจะขาดความเป็นตัวแทนของคนที่ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต  ซึ่งตรงนี้เราต้องยอมรับ Coverage Error ที่จะเกิดขึ้น และจะได้รายงานในผลสรุปต่อไป

‘การที่ให้ผู้ตอบเป็นผู้อาสาเข้ามาตอบแบบสำรวจโดยไม่มีการควบคุมการเลือกกลุ่มเป้าหมายจะได้ผลที่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่งได้หรือไม่’

การทำแบบสำรวจออนไลน์เรียกได้ว่าเป็นการเลือกกลุ่มแบบ Voluntary Response Sample หมายความว่าจะเป็น กลุ่มคนที่อาสา (voluntarily) หรือเป็นผู้เลือก (self-select) เข้ามาทำแบบโพลเอง บ่อยครั้งที่จะเป็นผู้ที่มีความสนใจในหัวข้อที่ทำการสำรวจอยู่มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เลือกเข้ามาตอบโพล จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้กลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะ ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งในผลโพลเองได้ ในกรณี้จะต้องทำการปรับค่าถ่วงน้ำหนักด้วยการแบ่งข้อมูลออกเป็นชั้นภูมิ หรือ Post-stratification หลังจากได้รับการตอบกลับอีกที เช่นใช้การ Weight บางข้อคำถามสำหรับที่ได้ผู้มาตอบมากเกินไป หรือน้อยเกินไปได้ เพื่อให้ได้ตามกลุ่มตัวอย่างกระจายตัวสอดคล้องตามกลุ่มประชากรเป้าหมาย

SurveyCan ขอยืนยันในความตรงไปตรงมา ยึดตามหลักวิชาการ ไม่เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายใด ๆ แน่นอน

ทีมที่ปรึกษาของ SurveyCan ได้พยายามออกแบบโพลให้ลดข้อจำกัดข้างต้นให้ได้มากที่สุด ผลโพลที่ได้ออกมาจะน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร เราคงต้องรอพิสูจน์ภายหลังวันที่ 3 มีนาคม ไปแล้วเท่านั้น แต่ ณ ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือเราจะวิเคราะห์ผลตามหลักการเชิงวิชาการ ตรงไปตรงมา พร้อมที่มาที่ไปของเหตุผลที่ใช้ประกอบผลของเรา เพื่อเผยแพร่ให้ทุกท่านทราบต่อไป

หากท่านใดที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ สนใจมีส่วนร่วมในกิจกรรม SurveyCan Poll กับการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แล้ว สามารถเชิญได้ที่ https://www.surveycan.com/survey107212


ก.พ. 08

ทำไม SurveyCan ถึงริเริ่มโครงการโพลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้

โพลคืออะไร? การทำโพลก็คือการหยั่งเสียงหรือการสำรวจประชามติ (Public Opinion Survey) โดยการอาศัยหลักของการสุ่มเลือกตัวอย่างทดสอบตัวอย่างจากคนจำนวนน้อย เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นตัวแทนเกี่ยวกับคนส่วนมาก วัตถุประสงค์หลักของการทำการหยั่งเสียงแบบ public opinion นี้ก็คือการหยั่งเสียงจากกลุ่มตัวอย่าง (targeted sample) จากกลุ่มประชากร

หลายครั้งเวลามีการรายงานโพล ก็คงเคยตั้งคำถามกันว่า ‘ทำไมเราถึงไม่เคยถูกสำรวจเลย’

จำนวนประชากรในประเทศไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีทั้งหมดประมาณ 54 ล้านคน แต่ละโพลจะมีจำนวนผู้ตอบเฉลี่ยประมาณ 1500  คน สมมติว่าในปีหนึ่ง ๆ มีการทำโพลระดับชาติอยู่ 300 ครั้ง จะมีคนได้เข้าร่วมตอบทั้งสิ้น 450,000 คนต่อปี และถ้าคิดว่าการสำรวจในแต่ละครั้งจะไม่สำรวจซ้ำคนกันเลยในช่วงปีๆ หนึ่ง โอกาสที่คุณจะได้เข้าร่วมสำรวจต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 100 เท่านั้นเอง

แล้วทำไมไม่ให้เสียงของคุณได้มีส่วนในโพลด้วย?

SurveyCan ได้จัดโครงการการทำโพลเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี พ.ศ. 2556 ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนกรุงเทพที่มีความสนใจทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการทำโพล สะท้อนเสียงของคุณเองได้ โดยไม่ต้องรอให้มีคนมาสำรวจทำโพลอีกต่อไป

จากที่เคยถามกันว่าการสุ่มกลุ่มตัวอย่างนั้น สามารถใช้เป็นตัวแทนประชากรทั้งหมดได้หรือไม่ SurveyCan มีกระบวนการที่จะวิเคราะห์สรุปผลจากกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรในครั้งนี้ นั่นคือ จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากทม. ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 ดังนั้นเพื่อให้ความคิดเห็นของคุณได้สะท้อนในการสำรวจครั้งนี้ คุณมีสิทธิ์เลือกที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้แล้ว เพื่อเราจะได้ผลที่สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด  ไม่เป็นการเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เป็นไปตามหลักวิชาการ ทางเราจะเผยแพร่ผลโพลเป็นระยะ ๆ ต่อไปใน http://blog.surveycan.com และที่ Facebook fan page ที่ http://www.facebook.com/surveycan

อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงดลใจให้ SurveyCan ริเริ่มโครงการนี้คือ ความท้าทายในการพิสูจน์ว่าการทำสำรวจแบบออนไลน์นั้น ก็มีความน่าเชื่อถือ ไม่ต่างจากการทำแบบสำรวจด้วยวิธีทั่วไป และแน่นอนด้วยสมมติฐานที่ว่าการออกแบบแบบสอบถาม และการวิเคราะห์ผลต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งเราก็จะได้เผยแพร่กระบวนการที่เราใช้เพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไปด้วย

ถึงแม้ว่าการทำโพลไม่อาจที่จะถูกต้องได้ 100% แต่นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะได้หยั่งเสียงความนิยม และเป็นการให้ผู้ที่ยังไม่มีสิทธิหรือไม่ไปเลือกตั้งได้มีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือกตั้งทางอ้อมได้ด้วย

คุณสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ได้ที่ https://www.surveycan.com/survey107212 หรือสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์เพื่อเรียนรู้การนำแบบสำรวจออนไลน์มาใช้กับกิจกรรมของคุณได้ที่ http://www.surveycan.com/